วันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ประวัติความเป็นมาของจังหวัดเชียงราย

        จังหวัดเชียงราย ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำกก เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ มีผู้คนเข้ามาตั้งหลักแหล่งอย่างไม่ขาดสายนับตั้งแต่สมัยต้นพุทธกาล หรือก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงปัจจุบัน ดังจะสรุป ประวัติศาสตร์ความเป็นมาโดยแบ่งเป็นสมัยต่าง ๆ ได้ ๔ สมัย คือ
        
สมัยชุมชนโบราณก่อนประวัติศาสตร์
        บริเวณที่ราบลุ่มของแม่น้ำกก เป็นศูนย์กลางที่สำคัญของชนชาติไทยและอารยธรรมไทย ตั้งแต่ก่อนพ.ศ. ๑๘๐๐ ร่องรอยที่เป็นรูปธรรมของสังคมและอารยธรรมไทยลุ่มน้ำกก ได้แก่ ซากเมืองโบราณ ที่มีอยู่เกลื่อนกลาดบนสองฝั่งแม่น้ำกก เท่าที่ค้นพบในปัจจุบันมีซากเมืองโบราณถึง ๒๗ เมือง ตั้งแต่อำเภอฝางซึ่งเป็นต้นแม่น้ำกก จนถึงเมืองเชียงแสน นับเป็นพยานที่ดี ว่าได้มีชนชาติไทยชุมนุมกันตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณแม่น้ำกกอย่างหนาแน่น และได้ขยายตัวมีการสร้างบ้านแปงเมืองกันไม่ขาดสาย ศูนย์กลางทางการเมือง ของไทยแห่งลุ่มน้ำกกในยุคแรก ตั้งอยู่ที่ลำน้ำแม่สายซึ่งอยู่เหนือแม่น้ำกกขึ้นไปเล็กน้อย ตำนานสิงหนวัติจดบันทึกไว้ว่า ราชวงศ์กษัตริย์ไทเมือง ชื่อสิงหนวัติกุมาร อพยพคนไทย จากนครไทยเทศในยูนนาน ลงมาตั้งอาณาจักรโยนกนาคพันธุ์ ณ บริเวณละว้านที (แม่น้ำสาย) และแม่น้ำโขง ตั้งแต่ต้นพุทธกาลก่อนได้ชื่อว่าโยนก ตำนานสิงหนวัติได้กล่าวว่า บริเวณนี้เป็นดินแดนสุวรรณโคมคำแต่รกร้างไปแล้ว เมื่อสิงหนวัติกุมารนำไพร่บ้านพลเมืองมาจากนครไทยเทศ จึงมาสร้างเมืองขึ้นใหม่ชื่อว่า สิงหนวัตินคร ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น โยนกนครไชยบุรี ราชธานีศรีช้างแสน (ช้างแสนแปลว่าช้างร้อง) และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น เชียงแสน และเรียกพลเมืองของโยนกนครว่า ชาวยวน ตำนานเงินยางเชียงแสน ได้กล่าวถึง ปู่เจ้าลาวจก เป็นผู้ตั้งอาณาจักรเงินยาง หรือ หิรัญนคร เมื่อ พ.ศ ๑๑๘๑ เป็นยุคที่สองต่อจาก โยนกนาคพันธุ์ ซึ่งล่มสลายไปแล้ว โดยตั้งศูนย์กลางอยู่ ณ บริเวณเดียวกับ โยนกนาคพันธุ์เดิม แต่ไพร่บ้านพลเมืองส่วนใหญ่อยู่กันหนาแน่นที่ปากแม่น้ำกกสบแม่น้ำโขง อาศัยน้ำท่าที่อุดมสมบูรณ์ทำนา การปกครองบ้านเมืองก็ใช้พื้นที่ทำนา เป็นเกณฑ์ การแบ่ง เขตเช่นแบ่งเป็นพันนา หมื่นนา แสนนาและล้านนาเป็นต้น มีเมืองเชียงแสนเป็นเมืองสำคัญและมีเมืองเล็กเมืองน้อยที่เรียกว่าเวียง เกิดขึ้นตามบริเวณ ที่ราบลุ่มแม่น้ำต่าง ๆ อีกมากมาย     

สมัยสร้างบ้านแปงเมืองของราชวงศ์มังราย
        ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ บริเวณลุ่มน้ำกก มีการ “สร้างบ้านแปลงเมือง” โดยพญามังราย (พ.ศ.๑๗๘๑-๑๘๖๐) ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย บุตรของพญาลาวเม็ง (ผู้ครองหิรัญนครเงินยาง) และพระนางเทพคำข่าย (เจ้าหญิงแห่งเมืองเชียงรุ้ง) ได้เสด็จขึ้นครองราชย์แทนพญาลาวเม็ง ที่เมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสนในปี พ.ศ. ๑๘๐๒ และได้ทรงย้ายราชธานีจากเมืองหิรัญนครเงินยาง (ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเมืองเชียงแสน) มาสร้างราชธานีแห่งใหม่ที่ริมฝั่งแม่น้ำกก เมื่อ พ.ศ. ๑๘๐๕ และได้ขนานนามราชธานีแห่งนี้ว่า “เชียงราย” ซึ่งมีความหมายว่า “เมืองของพญามังราย” จากนั้นได้รวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครือญาติเชื้อสาย ลัวะ จักราช เช่นเมืองเชียงไร เมืองปง เมืองเวียงคำ เชียงเงิน เชียงช้าง เชียงของ ฯลฯ เข้ามาไว้ในอำนาจ รวมทั้งได้สร้าง เวียงฝางขึ้นมาในปี ๑๘๑๒ ต่อมาพระองค์ได้ขยายอำนาจสู่ดินแดนลุ่มแม่น้ำปิง สามารถยึดเมืองหริภุญชัย (ลพุน) ได้ในปี ๒๘๑๗ และได้เมืองอังวะพุกามในปี ๑๘๓๒ โดยได้นำเอาช่างจากพุกามมาไว้ที่เชียงแสนด้วยหลังจากนั้น พระองค์จึงย้ายราชธานีมายังบริเวณลุ่มแม่น้ำปิง โดยสร้าง เมือง “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” เป็นราชธานี เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๙ และครองราชย์อยู่ที่เชียงใหม่ตลอด โดยให้ขุนคราม ราชโอรสไปครองเมืองเชียงรายแทน เชียงรายจึงกลาย สภาพเป็นเมืองบริวารของเชียงใหม่ ภายหลังการย้ายราชธานีของพญามังราย เชียงรายก็ถูกเปลี่ยนเป็นที่ประทับของพระมหาอุปราชและในระยะต่อมาบทบาทเมืองเชียงราย ก็ถูกริดรอนลง เมื่อเชียงใหม่เกิดสงครามกลางเมืองแย่งชิงอำนาจกันเอง อาณาจักรล้านนาก็เริ่มเสื่อมและเสียเอกราชให้แก่พระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๑ เมือง เชียงรายจึงตกอยู่ใต้อำนาจการปกครองของพม่านานถึง ๒๐๐ ปีโดยในระหว่างที่พม่าเข้ามามีอำนาจนั้นพม่าได้ฟื้นฟูเมืองเชียงแสนเป็นเมืองสำคัญในการปกครองของหัวเมืองเหนือ

สมัยเป็นเมืองบริวารต้นกรุงรัตนโกสินทร์
        ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี อาณาจักรไทยได้ทำสงครามกับพม่าหลายครั้ง จนบรรดาผู้นำของคนไทยตอนเหนือ เช่น พญาจ่าบ้าน พญากาวิละ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ทำการต่อสู้กับพม่าที่เรียกว่า “ฟื้นม่าน” เพื่อช่วยขับไล่พม่าออกไปจากล้านนาไทย แต่ก็ยังไม่สำเร็จ ต่อมาพญากาวิละ เป็นผู้มีบทบาท มากในการเกลี้ยกล่อมให้บรรดาเมืองต่าง ๆ ในล้านนาร่วมมือกันต่อสู้พม่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงเห็นความสำคัญของอาณาจักรล้านนาไทย จึงทรง สนับสนุนให้ทัพมาช่วย และโปรดเกล้าสถาปนาเชียงใหม่ขึ้นเป็นประเทศราช และแต่งตั้งให้พญากาวิละเป็นพระเจ้ากาวิละ ครองเมืองเชียงใหม่ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๓๔๗ พระเจ้ากาวิละ ได้ยกทัพไปตีเมืองเชียงแสนและกวาดต้อนผู้คนบริเวณเมืองต่าง ๆ ออกไปทั้งหมด ทำให้เมืองต่าง ๆ รวมทั้งเมืองเชียงรายกลายเป็นเมืองร้าง ในปี พ.ศ. ๒๓๘๖ ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมืองเชียงรายได้รับการฟื้นฟูบูรณะขึ้นอีกครั้ง มีฐานะเป็นเมืองบริวารของเชียงใหม่ โดยมีเจ้าหลวงธรรมลังกา เป็นเจ้าเมืององค์แรก และนับแต่ปี พ.ศ. ๒๔๐๐ เป็นต้นมา การปกครองเมืองเชียงราย ในฐานะเป็นเมืองบริวารของเมืองเชียงใหม่ ประกอบด้วยเชื้อพระวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ที่เรียกว่า “เจ้าขัน ๕ ใบ” เป็นคณะปกครองเมืองเชียงราย ประกอบด้วย เจ้าหลวง พระยาอุปราช พระยาราชวงศ์ พระยาราชบุตร และพระยาบุรีรัตน์ เป็นผู้ปกครอง นอกจากนี้ยังมี “เค้าสนามหลวง” ประกอบด้วยเจ้านายขุนนางชั้นสูง ทำหน้าที่ปกครองบ้านเมือง และ เมืองเชียงราย มีเจ้าหลวง และเจ้านายบุตรหลานเชื้อสายราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนปกครอง เป็นระยะเวลานานถึง ๖๐ ปี (พ.ศ. ๒๓๘๖-๒๔๔๖) จนมีการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ในสมัยรัชกาลที่ ๕

สมัยการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล
        สมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำเนินนโยบายสร้างความเป็นเอกภาพทางการเมือง โดยค่อย ๆ ริดรอนอำนาจของเจ้าผู้ครองนคร พยายามไม่ให้ เกิดความขัดแย้งในการดึงอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๒๗ จนถึง ๒๔๔๒ ได้ประกาศจัดตั้งมณฑลพายัพ และเป็นการยกเลิกหัวเมืองประเทศราชล้านนาไทย ทำให้ ล้านนาไทยเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรอย่างแท้จริง ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๓๖-๒๔๕๓ รัฐบาลได้ส่งข้าหลวงคือ พ.ต. หลวงภูวนาทนฤบาล มาดูแลเมืองเชียงราย โดยให้รวมเมือง เชียงราย เมืองฝาง เวียงป่าเป้า เมืองพะเยา แม่ใจ ดอกคำใต้ แม่สรวย เชียงคำ เชียงของ ตั้งเป็นหัวเมืองจัตวา เรียกว่า “เมืองเชียงราย” อยู่ในมณฑลพายัพ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้มีการยกเลิกการปกครอง แบบมณฑลเทศาภิบาลเมืองเชียงรายจึงมีฐานะเป็นจังหวัด โดยเมืองฝางถูกแยกเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๐ อำเภอพะเยาพร้อมกับอีก ๖ อำเภอบริวาร จึงถูกยกฐานะเป็นจังหวัดพะเยา ปัจจุบันจังหวัดเชียงรายแบ่งการปกครองออกเป็น ๑๘ อำเภอ ได้แก่
1. อ.เมืองเชียงราย
2. อ.แม่สาย
3. อ.เชียงของ
4. อ.แม่สรวย
5. อ.เวียงป่าเป้า
6. อ.พญาเม็งราย
7. อ.เทิง
8. อ.เวียงแก่น
9. อ.ป่าแดด
10. อ.ขุนตาล
11. อ.พาน
12. อ.แม่ฟ้าหลวง
13. อ.เวียงชัย
14. อ.แม่ลาว
15. อ.แม่จัน
16. อ.เวียงเชียงรุ้ง
17. อ.เชียงแสน
18. อ.ดอยหลวง





ตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดเชียงราย

ตราประจำจังหวัดเชียงราย
รูปช้างสีขาวใต้เมฆ

        เมื่อพญามังรายได้ทรงรวบรวมหัวเมืองฝ่ายเหนือในอาณาเขตรอบ ๆ ได้แล้วจึงทรงกรีฑาทัพไปแสดงฝีมือในการยุทธต่อหัวเมืองฝ่ายใต้ลงมา จึงได้ไปรวมพล ณ. เมืองลาวกู่เต้า และหมอควาญได้นำช้างมงคลของพญามังรายไปทอด (ผูก) ไว้ในป่าหัวดอยทิศตะวันออก พลัดหายไป พญามังรายจึงได้เสด็จติดตามรอยช้างไปจนถึงดอยทองริมแม่น้ำกกนัทธีได้ทัศนาการเห็น ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม อุดมสมบูรณ์เป็นชัยภูมิที่ดี จึงได้สร้างเมืองใหม่ขึ้นในที่นั่น ให้ก่อปราการโอบเอาดอยจอมทองไว้ในท่ามกลางเมือง ขนานนามเมืองว่า "เวียงเชียงราย" ตามพระนามของพญามังรายผู้สร้าง เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 1805 ดังนั้น จึงได้นำรูปช้างสีขาวใต้เมฆแห่งความรุ่งเรือง และอยู่เย็นเป็นสุข บนพื้นสีม่วงของวันเสาร์ ซึ่งตรงกับวันประสูติของพญาเม็งราย เป็นสีประจำจังหวัด


คำขวัญประจำจังหวัดเขียงราย

"เหนือสุดในสยาม    ชายแดนสามแผ่นดิน

ถิ่นวัฒนธรรมล้านนา   ล้ำค่าพระธาตุดอยตุง"

แผนที่จังหวัดเขึยงราย

ข้อมูลเกี่ยวกับจังหวัดเชียงราย

จังหวัดเชียงราย ตั้งอยู่ภาคเหนือของประเทศไทย ห่างจากกรุงเทพฯ 785 ก.ม. มีเนื้อที่ประมาณ 11,678.369 ตร.ก.ม. หรือประมาณ 7,298,981 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง ดังนี้

   ทิศ                                                                            พื้นที่ติดต่อ
ทิศเหนือ                       ประเทศสหภาพพม่า และประเทศสาธารณรัฐ ประชาธิปไตยประชาชนลาว
ทิศใต้                                                 จังหวัดลำปาง และจังหวัดพะเยา
ทิศตะวันออก                   ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และจังหวัดพะเยา
ทิศตะวันตก                                   ประเทศสหภาพพม่า และจังหวัดเชียงใหม่


ภูมิศาสตร์
ที่ตั้ง

        จังหวัดเชียงรายตั้งอยู่เหนือสุดของประเทศไทย อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 19 องศาเหนือ ถึง 20 องศา 30 ลิปดาเหนือ และเส้นแวงที่ 99 องศา 15 ลิปดา ถึง 100 องศา 45 ลิปดาตะวันออก อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร824 กิโลเมตร

ภูมิประเทศ

        จังหวัดเชียงรายมีภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงในทวีปตอนเหนือ (North Continental Highland) มีพื้นที่ราบสูงเป็นหย่อม ๆ ในเขตอำเภอแม่สรวย อำเภอเวียงป่าเป้า และอำเภอเชียงของ บริเวณเทือกเขาจะมีความสูงประมาณ 1,500-2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล โดยมีดอยลังกาหลวง เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในจังหวัด มีความสูง 2,031 เมตร[4]บริเวณส่วนที่ราบตามลุ่มแม่น้ำสำคัญในตอนกลางของพื้นที่ ได้แก่ อำเภอพาน อำเภอเมืองเชียงราย อำเภอแม่จัน อำเภอแม่สาย อำเภอเชียงแสน และอำเภอเชียงของ มีความสูงประมาณ 410-580 เมตร จากระดับน้ำทะเล

        ตั้งอยู่เหนือสุดของประเทศไทย อาณาเขตของจังหวัดทางทิศเหนือติดกับแคว้นเมืองสาด และ แคว้นท่าขี้เหล็ก ของ รัฐฉาน ประเทศพม่า และ แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว ทิศตะวันออกติดกับแขวงอุดมไซ ประเทศลาวทิศใต้ติดกับ อำเภอแม่ใจ อำเภอภูกามยาว อำเภอดอกคำใต้ อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ และ อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา อำเภอเมืองปาน และ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ทิศตะวันตกติดกับ อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอพร้าว อำเภอไชยปราการ อำเภอฝาง และ อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ และแคว้นเมืองสาด ของ รัฐฉาน ประเทศพม่า มีชายแดนติดกับประเทศพม่ายาว ประมาณ 130 กิโลเมตร และมีชายแดนติดต่อกับลาวประมาณ 180 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 11,680 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 7,290,000 ไร่

        ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง มีป่าไม้ปกคลุม บริเวณเทือกเขามีชั้นความสูง 1,500-2,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีที่ราบเป็นหย่อม ๆ ในระหว่างหุบเขา และตามลุ่มน้ำสำคัญ จังหวัดเชียงรายมีภูเขาล้อมรอบโดยเฉพาะทางทิศตะวันตกเป็นแนวเทือกเขาผีปันน้ำ ติดต่อกันไปเป็นพืดตลอดเขตจังหวัด

ภูมิอากาศ


        จังหวัดเชียงรายมีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 24 องศาเซลเซียส ฤดูร้อน เริ่มจากกลางเดือนกุมภาพันธ์-กลางเดือนพฤษภาคม มีอุณหภูมิประมาณ 37 องศาเซลเซียส ฤดูฝน เริ่มจากกลางเดือนพฤษภาคม-กลางเดือนตุลาคม มีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 27 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยปีละ 1,768 มิลลิเมตร มากที่สุดในปี 2544 จำนวน 2,287.60 มิลลิเมตรน้อยที่สุดในปี 2546 จำนวน 1,404.10 มิลลิเมตร จำนวนวันที่มีฝนตกเฉลี่ย 143 วันต่อปี ฤดูหนาว (พฤศจิกันยายน – กุมภาพันธ์) จังหวัดเชียงรายมีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 15.0 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 8.0 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2544 สภาพอากาศของจังหวัดเชียงราย ถือว่าหนาวจัดในพื้นที่ราบ อุณหภูมิต่ำสุดจะอยู่ที่ 8-9 องศาเซลเซียส ส่วนบนยอดดอย อุณหภูมิต่ำสุดจะอยู่ที่ 0-5 องศาเซลเซียส จึงทำให้อากาศที่เชียงรายในช่วงฤดูหนาว เป็นพื้นที่ๆ นักท่องเที่ยวอยากมาเป็นอย่างยิ่ง


ประชากร


ประชากรในเขตจังหวัดเชียงราย แบ่งออกได้เป็น กลุ่ม คือ

คนไทยพื้นราบ ประกอบด้วยคนเมือง คนไทย ไทลื้อ ไทเขิน ไทใหญ่ ดังนี้

คนเมือง เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดในอดีตเรียกว่า *ไทยยวน*ไทยวนนอกล้านนา*อำเภอเสาไห้ *จังหวัดสระบุรี *ตำบลคูบัว *จังหวัดราชบุรี *บางขุนพรหม ผู้ชายจะมีรูปร่างโปร่งบางกว่าคนไทยภาคกลางเล็กน้อย ผู้หญิงมีรูปร่างผิวพรรณและหน้าตางดงาม มีภาษาพูดแตกต่างไปจากไทยภาคกลางเล็กน้อย มีตัวหนังสือเฉพาะของตนเอง การแต่งกายพื้นเมือง ผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่นยาวเกือบถึงตาตุ่ม ใส่เสื้อแขนกระบอก ห่มสไบ เกล้าผมทัดดอกไม้ ชายนิยมนุ่งกางเกงขายาว ใส่เสื้อคอกลมแขนสั้นสีครามเข้ม มีผ้าขาวม้าคาดเอว บ้านเรือนยกใต้ถุนสูง หน้าจั่วหลังคามีไม้ไขว้กันประดับด้วยลวดลาย เรียกว่ากาแล เครื่องดนตรีที่สำคัญได้แก่ เปี๊ยะ สะล้อ ซึง ปี่ แน กลอง นาฏศิลป์พื้นบ้านมีการฟ้อนเมือง ฟ้อนม่าน ฟ้อนเงี้ยว ประเพณีที่สำคัญคล้ายไทยภาคกลาง มีบางส่วนที่แตกต่างกันออกไปเช่นปอยหลวง เรียกขวัญ สืบชะตาเป็นต้น

ไทลื้อ,ไทเขิน,ไทใหญ่ เป็นกลุ่มชนที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง และทางตอนใต้ของจีน
ไทลื้อเป็นชนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ตอนกลางและตอนบนตั้งแต่แขวงไชยบุรี ประเทศลาวขึ้นไป
ไทยเขิน มีถิ่นฐานเดิมอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำขิ่นในรัฐฉาน จึงได้ชื่อว่าไทขีน ได้เข้ามาอยู่ในจังหวัดเชียงราย ในเขตอำเภอเมือง ฯ อำเภอแม่สาย และอำเภอเชียงแสน
ไทใหญ่ เรียกตนเองว่าไต ถูกคนเมืองเรียกว่า เงี้ยว และพม่าเรียกว่าฉาน ซึ่งแปลว่าคนภูเขา ผู้ชายรูปร่างสูงใหญ่กว่าคนไทยทั่วไป รูปร่างสูงโปร่งแข็งแรง มือเท้าเล็ก ผู้หญิงมีรูปร่างหน้าตาสวยงาม ผิวเนียนกว่าผู้หญิงพม่าเล็กน้อย หน้าตาเฉลียวฉลาด มีภาษาพูดแตกต่างไปจากคนเมือง และคนไทยภาคกลางเล็กน้อย มีตัวหนังสือของตนเอง การแต่งกายพื้นบ้าน ผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่นยาวเกือบถึงตาตุ่ม ใส่เสื้อแขนกระบอกเข้ารูป เกล้าผมมวยโพกศีรษะด้วยผ้า เจาะหูใส่ตุ้มหู ผู้ชายใส่เสื้อแบบจีน นุ่งกางเกงขายาว และเกล้าผมมวย สวมหมวกปีกกว้าง เจาะหูใส่ตุ้ม บ้านเรือนยกใต้ถุนสูง มีไม้แกะสลักประดับ เครื่องดนตรีสำคัญได้แก่ ฆ้อง กลอง ฉาบ นาฏศิลป์พื้นบ้านมีเต้นโต ฟ้อนนก ประเพณีสำคัญคล้ายคนไทยทั่วไป
เชียงรายมีประชากรหลายเชื้อชาติ ทั้งชาวไทยพื้นราบ ชาวไทยภูเขา และชาวจีนฮ่อที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่บนดอยสูง แต่ละชนชาติจะมีประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่มีเอกลักษณ์ เป็นเสน่ห์ห์อีกอย่างที่ทำให้เชียงรายได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

ชาวไทยภูเขา ประกอบด้วย อีก้อ มูเซอ เย้า กะเหรี่ยง ลีซอ ม้ง

ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า
หมายถึง บุลคลหลายสัญชาติที่อพยพมาจากพม่าเข้าอยู่ในประเทศไทยก่อนวันที่ 9 มีนาคม 2519 การออกนอกเขตจังหวัดที่อยู่อาศัยต้องขออนุญาตจากปลัดกระทรวงมหาดไทย

ชาวลาวอพยพ
หมายถึง คนลาวที่อาศัยอยู่กับญาติพี่น้องตามแนวชายแดนของประเทศไทย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองของลาวในปี พ.ศ. 2517 ขณะนี้ทางการของไทยยังไม่อนุญาตให้เดินทางออกนอกเขตจังหวัดที่อยู่อาศัย

ชาวจีน
ชนกลุ่มน้อยซึ่งสืบเชื้อสายจีน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นอดีตทหารพรรคก๊กมินตั๋ง ได้มาตั้งรกรากในพื้นที่ ที่มีความโดดเด่นได้แก่ หมู่บ้านสันติคีรี

ภาษา

        ภาษาพูด ใช้พูดจากันเรียกว่า อู้คำเมือง สำเนียงพูดของชาวเชียงรายไม่เหมือนกับจังหวัดอื่น ๆ ในภาคเหนือ คือไม่เนิบนาบ และไม่ห้วนจนเกินไป[ต้องการอ้างอิง] เป็นสำเนียงที่หล่อหลอมขึ้นมาใหม่ เนื่องจากเชียงรายเคยเป็นเมืองร้างผู้คนนานเกือบร้อยปี ได้มีการฟื้นฟูบ้านเมืองขึ้นมาใหม่เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2384 โดยได้เกณฑ์ราษฎรจากเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน และชนเผ่าไตใหญ่ ไตลื้อ ไตยอง และไตขืน (เขิน) ซึ่งอพยพจากเชียงตุง และสิบสองปันนา รวมทั้งชาวลาวจากประเทศลาว ได้เข้ามาอาศัยอยู่รวมกัน ดังนั้นสำเนียงพูดของชาวเชียงรายจึงมีความหลากหลายทางสำเนียงในพื้นที่ต่าง ๆ แต่ภาษาหลักของเชียงรายจะอยู่ที่อำเภอเมือง อำเภอเชียงแสน อำเภอแม่จัน อำเภอแม่สาย อำเภอเวียงชัย และอำเภอพาน

        ภาษาเขียน เชียงรายก็เช่นเดียวกันกับจังหวัดทางภาคเหนืออื่น ๆ คือมีภาษาเขียนที่เรียกว่าอักขระล้านนา หรือตัวเมือง อักษรล้านนามีวิวัฒนาการมาจากอักษรพราหมีของอินเดีย มีการจัดระบบของหลักภาษาคล้ายกับภาษาบาลี อักษรล้านนามีรูปทรงกลมป้อมคล้ายอักษรพม่าและมอญ แต่หลักการทางภาษาไม่เหมือนกัน จากหลักฐานในศิลาจารึกวัดพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ แสดงให้เห็นว่ารูปทรงของอักษรล้านนามีรูปทรงเป็นตัวเหลี่ยมมาก่อ



แหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงราย

       เชียงราย นับเป็นจังหวัดที่อยู่เหนือสุดของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน แถมยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้บนดอยสูงที่สลับซับซ้อน เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำและน้ำตกอันงดงามหลายแห่ง รวมถึงมีประชากรหลายเชื้อชาติ ทั้งชาวไทยพื้นราบ ชาวไทยภูเขา และชาวจีนฮ่อ ที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่บนดอยสูง ซึ่งแต่ละชนชาติจะมีประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่มีเอกลักษณ์ เป็นเสน่ห์อีกอย่างที่ทำให้เชียงรายได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ จึงไม่ต้องแปลกใจเลยหากเชียงรายจะเป็นจังหวัดอันดับต้น ๆ ที่นักเดินทางมักคิดถึงเป็นที่แรก ๆ ดังนั้น กระปุกท่องเที่ยวเลยหยิบเอา 15 สถานที่ท่องเที่ยวเชียงราย ที่ใคร ๆ มาแล้วก็ต้องไปเยือนมาแนะนำกันค่ะ

1. ไร่บุญรอด



           สิงห์ ปาร์ค (Singha Park) หรือที่หลาย ๆ คนเรียกว่า ไร่บุญรอด ตั้งอยู่ริมถนนสายเด่นห้า-ดงมะดะ อำเภอเมือง ห่างจากเขตชุมชนเมืองเชียงราย ประมาณ 9 กิโลเมตร ในพื้นที่ประมาณ 8,000 ไร่ ครอบคลุม 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลดอยฮาง ตำบลรอบเวียง ตำบลป่าอ้อดอนชัย และตำบลแม่กรณ์ ความสูงของพื้นที่เฉลี่ย 450 เมตร เหนือจากระดับน้ำทะเล ในฤดูหนาวอากาศค่อนข้างเย็นสบาย

           สภาพของพื้นที่โดยทั่ว ๆ ไปเป็นที่ลาด-เนินเขา มีภูเขาเล็ก ๆ พื้นที่มีความลาดเทปานกลาง เป็นพื้นที่เพาะปลูกพื้นหลากหลายชนิด เช่น ชาอู่หลงสายพันธุ์จินซวน (Jin Xuan) หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ ชาอู่หลงเบอร์ 12 เป็นชาสายพันธุ์ไต้หวัน ปลูกบนพื้นที่กว่า 600 ไร่ จำนวนกว่า 761,000 ต้น พื้นที่ปลูกยางพารากว่า 2,700 ไร่ พุทราพันธุ์ซื่อหมี่ กว่า 100 ไร่, สตรอว์เบอร์รี อีกหนึ่งสุดยอดที่มาพร้อมลมหนาว ซึ่งที่ไร่บุญรอดจะปลูกสตรอว์เบอร์รีในพื้นที่ 4 ไร่ สายพันธุ์พระราชทาน 80 เป็นเกษตรกรรมผสมผสาน หมดฤดูกาลจะปลูกแคนตาลูปและมะเขือเทศพันธุ์เลื้อย โดยสตรอว์เบอร์รีจะให้ผลผลิตมกราคม-กุมภาพันธ์ และพืชผักผลไม้เมืองหนาวอีกหลากหลายชนิด

           ทั้งนี้ สิงห์ ปาร์ค เปิดบริการให้ชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10.00–16.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 08 0900 2686 หรือเว็บไซต์ boonrawdfarm.com และ เฟซบุ๊ก Boon Rawd Farm


 2. พระธาตุดอยตุง



           พระธาตุดอยตุง ตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 17.5 บนทางหลวงหมายเลข 1149 เป็นที่บรรจุพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) ของพระพุทธเจ้า นำมาจากมัธยมประเทศ นับเป็นครั้งแรกที่พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ได้มาประดิษฐานที่ล้านนาไทย เมื่อก่อสร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุนี้ ได้ทำธงตะขาบ (ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า ตุง) ใหญ่ยาวถึงพันวา ปักไว้บนยอดดอย ถ้าหากปลายธงปลิวไปไกลถึงเมืองไหน ก็จะกำหนดเป็นฐานพระสถูป เหตุนี้ดอยซึ่งเป็นที่ประดิษฐานปฐมเจดีย์แห่งล้านนาไทย จึงปรากฏนามว่า ดอยตุง

           ทั้งนี้ พระธาตุดอยตุงเป็นปูชนียสถานที่สำคัญ เมื่อถึงเทศกาลนมัสการพระธาตุดอยตุงจะมีพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและเพื่อนบ้านจากประเทศใกล้เคียง เช่น ชาวเชียงตุงในรัฐฉาน สหภาพพม่า ชาวหลวงพระบาง เวียงจันทน์ เดินทางเข้ามานมัสการทุกปี


 3. พระตำหนักดอยตุงและสวนแม่ฟ้าหลวง



           พระตำหนักดอยตุง ตั้งอยู่ในเขตอำเภอแม่ฟ้าหลวง ห่างจากตัวเมืองเชียงรายประมาณ 60 กิโลเมตร พระตำหนักดอยตุงเคยเป็นที่ประทับแปรพระราชฐานเพื่อทรงงานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีรูปทรงผสมผสานระหว่างศิลปะล้านนากับชาเลย์ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีการแกะสลักไม้ตามกาแล เชิงชายและขอบหน้าต่างเป็นลวดลายต่าง ๆ โดยฝีมือช่างชาวเหนือ รอบ ๆ พระตำหนักมีสวนดอกไม้หลากพันธุ์ หลายสี ให้ความสวยงามสดชื่น โดยเฉพาะในฤดูหนาวจะเห็นหมอกจาง ๆ บริเวณยอดเขารอบพระตำหนัก มีเจ้าหน้าที่นำชมเป็นรอบ ๆ ละ 20 นาที เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 07.00-17.00 น. ค่าเข้าชม 90 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทรศัพท์ 0 5376 7015-7 หรือ www.doitung.org

           ส่วน สวนแม่ฟ้าหลวง อยู่ด้านหน้าพระตำหนักดอยตุง มีเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ เป็นสวนดอกไม้เมืองหนาว อาทิ ดอกซัลเวีย, พิทูเนีย, บีโกเนีย, กุหลาบ, ดอกลำโพง, ไม้มงคลต่าง ๆ, ไม้ยืนต้น และซุ้มไม้เลื้อยอีกมากกว่า 70 ชนิด รูปปั้นต่อเนื่องฝีมือของ มีเซียม ยิบอินซอย (Misiem Yipintsoi) เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 06.30-18.00 น. ค่าเข้าชม 90 บาท

           หอแห่งแรงบันดาลใจ เป็นอาคารแสดงพระราชประวัติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและพระราชวงศ์ มีห้องจัดแสดงนิทรรศการ 8 ห้อง เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น. ค่าเข้าชม 50 บาท นอกจากนั้นยังมีร้านขายของที่ระลึก เสื้อผ้าไหม ผลิตภัณฑ์จากโครงการหลวงทั้งผักผลไม้ ดอกไม้ พรรณไม้ต่าง ๆ ให้ซื้อกลับไปเป็นของฝาก

           นักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้าชมทั้งพระตำหนักดอยตุง สวนแม่ฟ้าหลวง และหอแห่งแรงบันดาลใจ โดยมีจำหน่ายบัตรรวม ราคา 190 บาท ซุ้มจำหน่ายบัตรเปิดเวลา 06.30-18.00 น. หลังเวลา 17.00 น. จำหน่ายเฉพาะบัตรชมพระตำหนักและสวนแม่ฟ้าหลวง (หมายเหตุ : ราคาอาจมีการเปลี่ยนแปลง สามารถเช็กราคาได้ที่ www.doitung.org)


 4. วัดร่องขุ่น



           วัดร่องขุ่น อยู่ในท้องที่ตำบลป่าอ้อดอนชัย อำเภอเมือง ออกแบบและก่อสร้างโดย อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เมื่อ พ.ศ. 2540 โดยบนพื้นที่เดิมของวัด 3 ไร่ และขยายออกเป็น 12 ไร่ พระอุโบสถสีขาวตกแต่งด้วยลวดลายกระจกสีเงินแวววาว เป็นเชิงชั้นลดหลั่นกันไป หน้าบันประดับด้วยพญานาค ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถและห้องแสดงภาพวาดน่าสนใจมาก เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น. โทรศัพท์ 0 5367 3579 หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ วัดร่องขุ่น.com

           การเดินทาง : วัดอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงราย 12 กิโลเมตร บนเส้นทางไปจังหวัดพะเยา เลี้ยวขวาที่สามแยกทางไปน้ำตกขุนกรณ์ ประมาณ 100 เมตร วัดอยู่ซ้ายมือ


 5. ดอยแม่สลอง



           ดอยแม่สลอง เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านสันติคิรี เดิมชื่อ บ้านแม่สลองนอก เป็นชุมชนผู้อพยพจากกองพล 93 จากสหภาพพม่าเข้ามาในเขตไทย จำนวนสองกองพัน คือ กองพันที่ 3 เข้ามาอยู่ที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และกองพันที่ 5 อยู่ที่บ้านแม่สลองนอก ตั้งแต่ พ.ศ. 2504 ในเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ดอกนางพญาเสือโคร่ง ซึ่งเป็นซากุระพันธุ์ที่เล็กที่สุด สีชมพูอมขาวจะบานสะพรั่งตลอดแนวทางขึ้นดอยแม่สลอง เป็นพันธุ์ไม้ที่หาชมได้ยากในเมืองไทย เพราะเจริญเติบโตอยู่แต่เฉพาะในภูมิอากาศหนาวจัดเท่านั้น

           จุดน่าสนใจบนดอยแม่สลอง เช่น ชมไร่ชาและศึกษาวิธีการผลิตชา ขี่ม้าชมทิวทัศน์รอบหมู่บ้านเจียงจาใส และอนุสรณ์สถานอดีตทหารจีนคณะชาติภาคเหนือ ประเทศไทย ลองไปศึกษาเรื่องราวและประวัติของชาวดอยแม่สลอง โดยจะมีไกด์คอยนำชม เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น. ค่าเข้าชม 30 บาท สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ อบต. แม่สลองนอก โทรศัพท์ 0 5376 5129

           การเดินทางใช้เส้นทางเชียงราย-แม่จัน 28 กิโลเมตร เลยจากอำเภอแม่จันไป 1 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายไป 23 กิโลเมตร ผ่านหมู่บ้านผาเดื่อ ซึ่งเป็นจุดแวะชมและซื้อหัตถกรรมชาวเขา จากนั้นเดินทางจากบ้านอีก้อสามแยก ตรงไปดอยแม่สลอง ระยะทาง 10 กิโลเมตร รวมระยะทางจากเชียงราย 64 กิโลเมตร เป็นทางลาดยางตลอดสาย และจากดอยแม่สลองมีถนนเชื่อมต่อไปถึงบ้านท่าตอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ระยะทาง 45 กิโลเมตร ในกรณีไม่ได้ขับรถมาเองให้ขึ้นรถประจำทางจากตัวเมืองเชียงรายไปต่อรถสองแถวที่ปากทางขึ้นดอยแม่สลอง


6.ดอยวาวี




           ดอยวาวี เป็นชุมชนขนใหญ่ของชาวจีนฮ่อ กองพล 93 ซึ่งอพยพเข้ามาตั้งหลักปักฐานราว 50 ปีมาแล้ว ยึดอาชีพปลูกชาและผลไม้ท่ามกลางบรรยากาศอันสงบเงียบและทิวทัศน์งามของดอยสูงเช่นเดียวกับชุมชนดอยแม่สลอง แม้หมู่บ้านจะมีขนาดเล็ก แต่ผู้มาเยือนจะได้สัมผัสกลิ่นอายชุมชนชาวจีนอันเรียบง่าย ราวกับอยู่ทางแถบยูนนานตอนใต้ของจีน ขณะที่พ้นหมู่บ้านออกไปบนดอยก็เขียวขจีด้วยไร่ชาที่ลดหลั่นตามลาดเขา ช่วยประดับทิวทัศน์ชุมชนและเทือกดอยให้งดงามชวนมอง ใกล้กับดอยวาวีมีจุดชมทะเลหมอกอยู่บน “ดอยกาดผี” ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของอำเภอแม่สรวย เมื่อขึ้นไปยืนที่ชะง่อนผาสูง 1,500 เมตร จะสามารถมองเห็นทะเลหมอกหนาทึบเต็มหุบเขา พร้อมกับภาพอลังการของขุนเขาสลับซับซ้อนตามแนวเทือกดอยช้าง ซึ่งดอยกาดผีอยู่ห่างจากดอยวาวีประมาณ 20 กิโลเมตร ตามเส้นทางค่อนข้างทุรกันดาร ระหว่างทางยังผ่านหมู่บ้านชาวอ่าข่าและเย้า

           สถานที่น่าแวะ เช่น ดอยช้าง เป็นที่ตั้งสถานีวิจัยเกษตรที่สูงและหมู่บ้านขาวเขา มีแปลงปลูกผลไม้เมืองหนาวให้เที่ยวชม เช่น เกาลัด บ๊วย ท้อ พลับ พลัม ฯลฯ และไร่กาแฟอาราบิก้า โดยสามารถลองชิมกาแฟสดได้ด้วย ส่วนสินค้าน่าซื้อก็มีทั้งชาอู่หลง ซึ่งชาวจีนฮ่อวาวีนำชาพันธุ์ชิงชิงและชาเบอร์ 12 มาปลูกเพื่อผลิตเป็นชาอู่หลงคุณภาพดีไม่แพ้ต้นตำรับจากไต้หวันจนได้รับความนิยม ลองชิมชากลิ่นหอมและซื้อเป็นของฝากได้


 7. วนอุทยานภูชี้ฟ้า



           วนอุทยานภูชี้ฟ้า เป็นจุดชมวิวทะเลหมอกและพระอาทิตย์ขึ้นสุดฮอตของจังหวัดเชียงราย อยู่ห่างจากดอยผาตั้ง 25 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นยอดเขาที่แหลมชี้ขึ้นไปบนท้องฟ้า อยู่สูงจากระดับทะเลประมาณ 1,628 เมตร โดยมีหน้าผาเป็นแนวยาวยื่นไปทางฝั่งประเทศลาว บนยอดภูชี้ฟ้าเป็นทุ่งหญ้ากว้าง ในฤดูหนาวจะมีทิวทัศน์สวยงามเป็นพิเศษ นักท่องเที่ยวส่วนมากจะมาค้างแรมบริเวณบ้านร่มฟ้าทองทาง ซึ่งห่างจากจุดชมวิวประมาณ 1.5 กิโลเมตร แล้วจะเดินขึ้นภูชี้ฟ้าเพื่อไปชมวิวตอนเช้ามืด ระหว่างทางจะพบแปลงปลูกป่านางพญาเสือออกดอกบานสะพรั่งสวยงาม (เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์) และในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ต้นเสี้ยวดอกขาวรอบภูชี้ฟ้าจะออกดอกบานเต็มเชิงเขา

           การเดินทางใช้เส้นทางเชียงราย-เทิง ระยะทาง 64 กิโลเมตร และจากเทิง-บ้านปี้ ระยะทาง 6 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1155 ผ่านบ้านปางค่า บ้านเชงเม้ง เป็นทางลาดยาง ถึงภูชี้ฟ้าระยะทาง 42 กิโลเมตร หรือใช้ทางหลวงหมายเลข 1021 สายเทิง-เชียงคำ-บ้านฮวก ก่อนถึงเชียงคำ 6 กิโลเมตร มีทางแยกไปอุทยานแห่งชาติน้ำตกภูซาง อีก 19 กิโลเมตร แล้วเดินทางต่อไปยังภูชี้ฟ้าอีก 30 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถนำรถไปจอดไว้ที่ลานจอดรถวนอุทยานภูชี้ฟ้าแล้วเดินเท้าไปจุดชมวิวประมาณ 700 เมตร สอบถามรายละเอียดติดต่อได้ที่ สถานีขนส่งเชียงราย โทรศัพท์ 0 5371 1224 อบต.ตับเต่า โทรศัพท์ 0 5318 9111 และศูนย์บริการนักท่องเที่ยว โทรศัพท์ 0 5371 0195-6


 8. ดอยผาตั้ง



           ดอยผาตั้ง ตั้งอยู่ใกล้ทางหลวงหมายเลข 1093 กิโลเมตรที่ 89 เป็นจุดชมวิวไทย-ลาว มีความสูง 1,635 เมตร และเที่ยวชมทะเลหมอกได้ตลอดปี ซึ่งในเดือนธันวาคมถึงมกราคมมีดอกซากุระบาน และเดือนกุมภาพันธ์ก็จะมีดอกเสี้ยวบานสะพรั่งงดงาม นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวจีนฮ่อ ม้ง และเย้า โดยเฉพาะจีนฮ่อนั้น อดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของกองพล 93 ซึ่งอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ดอยผาตั้งนี้ ปัจจุบันประกอบอาชีพทางการเกษตร ปลูกพืชเมืองหนาว เช่น บ๊วย ท้อ สาลี่ แอปเปิล และชา

           การเดินทางจากจังหวัดเชียงรายใช้เส้นทางเชียงราย-เวียงชัย-พญาเม็งราย-บ้านต้า ทางหลวงหมายเลข 1233, 1173 และ 1152 ระยะทาง 50 กิโลเมตร บ้านต้า-บ้านท่าเจริญ ทางหลวงหมายเลข 1020 ระยะทาง 45 กิโลเมตร บ้านท่าเจริญ-เวียงแก่น-ปางหัด ทางหลวงหมายเลข 1155 ระยะทาง 17 กิโลเมตร และปางหัด-ดอยผาตั้ง อีก 15 กิโลเมตร จุดชมวิวช่องผาบ่อง สามารถมองเห็นแม่น้ำโขงทอดตัวคดเคี้ยวในฝั่งลาว  หากเดินเท้าต่อไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร จึงจะถึงจุดชมวิว 103 ทั้งนี้ สภาพเส้นทางบางช่วงสูงชัน สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ จุดบริการนักท่องเที่ยวดอยผาตั้ง โทรศัพท์ 0 5391 8301 หรือ องค์การบริหารส่วนตำบลปอ โทรศัพท์ 0 5371 0300, 0 5391 8265


 9. ถนนคนเดินเชียงราย+ถนนคนม่วนเชียงราย



           จังหวัดเชียงราย ร่วมกับ เทศบาลนครเชียงราย จัดโครงการถนนคนเดินเชียงราย “กาดเจียงฮายรำลึก” เชิญชวนนักท่องเที่ยวและประชาชนร่วมสัมผัสวิถีชีวิตแบบล้านนาในอดีต ที่แสดงออกถึงวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญา และสินค้าของดีของเชียงราย โดยจะจัดขึ้นทุกวันเสาร์ของเดือน ณ ถนนธนาลัย ตั้งแต่สี่แยกสำนักงานยาสูบฯ ไปจนถึงสี่แยกธนาคารออมสิน ขณะที่ทุกวันอาทิตย์ของเดือนจะมี “ถนนคนม่วนเชียงราย” ซึ่งอยู่บนถนนสันโค้งน้อย บริเวณการจัดงานแบ่งเป็นหลาย ๆ ส่วน โดยมีกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ ที่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายร่วมกันจัดแสดงกิจกรรมมากมายตลอดเส้นทาง

           ทั้งนี้ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก ถนนคนเดินเชียงราย และ chiangraitourism.org


 10. วัดพระแก้ว





           วัดพระแก้ว ตั้งอยู่บริเวณถนนไตรรัตน์ ตำบลเวียง อำเภอเมือง เป็นวัดที่ค้นพบ พระแก้วมรกต หรือ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ที่ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระแก้ว กรุงเทพฯ ในปัจจุบัน ตามประวัติเล่าว่าเมื่อ พ.ศ. 1897 ในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกนเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่นั้น ฟ้าได้ผ่าเจดีย์ร้างองค์หนึ่งและได้พบพระพุทธรูปลงรักปิดทองอยู่ภายในเจดีย์ จึงได้นำไปไว้ในวิหาร ต่อมาปูนบริเวณพระนาสิกเกิดกะเทาะออกมาจึงได้พบว่าเป็นพระพุทธรูปสีเขียวสร้างด้วยหยก คือ พระแก้วมรกต นั่นเอง

           ปัจจุบันชาวเชียงรายได้สร้างพระแก้วมรกตองค์ใหม่ขึ้นแทน เรียกว่า พระหยกเชียงราย หรือ พระพุทธรัตนากรนวุติวัสสานุสรณ์มงคล ซึ่งสร้างขึ้นในวโรกาสที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระชนมายุครบ 90 พรรษา ภายในวัดซีกกำแพงด้านทิศใต้ มีพิพิธภัณฑ์โฮงหลวงแสนแก้ว ลักษณะเป็นอาคารทรงล้านนาประยุกต์สองชั้น เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศาสนาและวัฒนธรรมล้านนา รวบรวมจัดแสดงศิลปวัตถุที่สำคัญของวัด และสิ่งของที่มีผู้นำมาถวาย เช่น พระพุทธรูป พระธาตุ เครื่องใช้เกี่ยวกับศาสนาของล้านนา เช่น เครื่องบูชา ฉัตร  ตุง เครื่องเขิน เป็นต้น  สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0 5371 1385 หรือ watphrakaew-chiangrai.com



 11. สวนรุกขชาติดอยช้างมูบ



           ช้างมูบ เป็นชื่อดอยที่สูงที่สุดของเทือกเขานางนอน คือ ประมาณ 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีอากาศเย็นสดชื่นตลอดปี พื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นดงฝิ่นที่ใหญ่ที่สุด และเป็นการเส้นทางลำเลียงยาเสพติดหลักในภูมิภาค สภาพป่าจึงถูกทำลายจนหมดสิ้น ต่อมาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีพระราชประสงค์ให้ฟื้นฟูผืนป่าแถบนี้ให้อุดมสมบูรณ์อีกครั้ง โครงการพัฒนาดอยตุงฯ จึงพัฒนาพื้นที่ให้เป็นสวนรุกขชาติ รวบรวมพรรณไม้พื้นเมืองและพรรณไม้ป่าหายาก กุหลาบพันปีจากหลายประเทศ ต้นนางพญาเสือโคร่ง กล้วยไม้พื้นเมือง รองเท้านารี ฯลฯ ปลูกอยู่ในสวนอย่างเป็นธรรมชาติกลางป่าสน มีเส้นทางการเดินลัดเลาะตามไหล่เขา มีลานสำหรับพักผ่อน ชมทิวทัศน์ได้รอบตัว แลเห็นได้ถึงประเทศเพื่อนบ้าน และลำน้ำโขง


 12. อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช


           ตั้งอยู่ที่ห้าแยกพ่อขุน อำเภอเมือง เส้นทางที่จะไปอำเภอแม่จันหรือแม่สาย สำหรับพ่อขุนเม็งรายเป็นกษัตริย์องค์ที่ 25 แห่งราชวงศ์ลัวะจังคราช เป็นโอรสของพญาลาวเม็ง และพระนางเทพคำขยาย หรือพระนางอั้วมิ่งจอมเมือง ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ แรม 9 ค่ำ เดือนอ้าย ปีกุน พุทธศักราช 1782 เสด็จสวรรคตที่เมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ.1854 พ่อขุนเม็งรายได้สร้างเมืองเชียงรายขึ้นบนดอยทอง จากรากฐานเดิมที่เคยเป็นเมืองมาก่อน เมื่อ พ.ศ.1805 ทรงเป็นปฐมกษัตริย์ แห่งราชวงศ์เม็งราย และรวบรวมบ้านเล็กเมืองน้อยเข้าเป็นอาณาจักรล้านนาไทยจนเจริญรุ่งเรืองถึงปัจจุบัน

           โดยประชาชนชาวเชียงรายร่วมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระเกียรติคุณของพ่อขุนเม็งราย ปั้นโดย นายปกรณ์ เล็กฮอน และทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2507 สำหรับลักษณะของอนุสาวรีย์ คือ เป็นพระรูปของพระองค์หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ขนาดเท่าครึ่ง ทรงฉลองพระองค์ด้วยเครื่องทรงพระมหากษัตริย์ล้านนาโบราณ ประทับยืนบนฐานสูงประมาณ 3 เมตร ทรงถือดาบด้วยพระหัตถ์ซ้ายแนบกับพระเพลา ทรงสวมมาลัยพระกร ทรงสวมธำมรงค์ที่พระหัตถ์ขวาตรงนิ้วนางและนิ้วก้อย ที่พระหัตถ์ซ้ายตรงนิ้วชี้ และทรงฉลองพระบาท ปัจจุบันมีตุงหลวงเฉลิมพระเกียรติประดับอยู่ทางด้านหลังอนุสาวรีย์ด้วย และที่ตรงฐานใต้พระบรมรูปมีคำจารึกว่า "พ่อขุนเม็งรายมหาราช พ.ศ. 1782-1860 ทรงสร้างเมืองเชียงรายขึ้นเป็นเมืองแรกเมื่อ พ.ศ. 1805 ทรงสถาปนาอาณาจักรล้านนาไทยให้เป็นปึกแผ่น และทรงสร้างความสามัคคีระหว่างชนชาติไทย"

           ทั้งนี้ กู่พระเจ้าเม็งราย ตั้งอยู่หน้าวัดงำเมือง บนดอยงำเมือง กู่นี้เป็นอนุสาวรีย์สำคัญแห่งหนึ่ง เพราะเป็นที่บรรจุอัฐิของพ่อขุนเม็งรายมหาราช ตามประวัติกล่าวว่า พระเจ้าไชยสงคราม ราชโอรสพระเจ้าเม็งราย เมื่อได้มอบราชสมบัติให้พระเจ้าแสนภูราชโอรสขึ้นครองนครเชียงใหม่แล้ว พระองค์ได้นำอัฐิพระราชบิดามาประทับอยู่ที่เมืองเชียงราย และได้โปรดเกล้าฯ สร้างกู่บรรจุอัฐิของพระราชบิดาไว้ ณ ดอยงำเมืองแห่งนี้

 13. พิพิธภัณฑ์บ้านดำ



           พิพิธภัณฑ์บ้านดำ ตั้งอยู่ที่ตำบลนางแล อำเภอเมือง สร้างขึ้นโดย อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี นับเป็นแหล่งเรียนรู้อันทรงคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมแบบร่วมสมัย ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น โดยภายในบ้านมีสิ่งก่อสร้าง ทั้งวิหาร บ้าน ศาลา ห้องแสดงผลงาน ฯลฯ รวมทั้งสิ้น 43 สิ่งก่อสร้าง เช่น วิหารเล็ก, มหาวิหาร (อาคารพิพิธภัณฑ์ศิลปะ), บ้านสามเหลี่ยม (ที่พักรับรองนักเขียน ลูกศิษย์ และห้องทำงาน), เรือนผกายแก้ว, เรือนเชียงทองทาทาบรุ้ง, อูปปรภพ (ห้องจิตวิญญาณ) และบ้านดำแกลลอรี่ (ศูนย์ข้อมูลและร้านจำหน่ายของที่ระลึก) สอบถามเพื่อเข้าชม โทรศัพท์ 0 5370 5834, 0 5377 6333, 08 1673 1155 หรือ thawan-duchanee.com


 14.ดอยหัวแม่คำ






           ดอยหัวแม่คำ อยู่สูงจากระดับทะเล 1,850 เมตร เป็นที่ตั้งหมู่บ้านชาวเขาขนาดใหญ่ ประกอบด้วยเผ่าลีซอ เป็นกลุ่มชนส่วนใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีอีก้อ ม้ง และมูเซอ ในช่วงเวลาซึ่งตรงกับตรุษจีนของทุกปี ชาวลีซอจะจัดงานประเพณีกินวอ ซึ่งเปรียบเสมือนวันขึ้นปีใหม่ ในวันนั้นชาวลีซอแต่งกายสวยงาม มีการกินเลี้ยง เต้นระบำ 7 วัน 7 คืน และในเดือนพฤศจิกายนเป็นช่วงที่ดอยหัวแม่คำงดงามไปด้วย “ดอกบัวตอง” สีเหลืองสดใสสะพรั่งอยู่ทั่วไปตามแนวเขา เป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นและทะเลหมอก

           การเดินทางจากเชียงรายใช้เส้นทางเดียวกับทางขึ้นดอยแม่สลองสายเก่า ทางหลวงหมายเลข 1130 แล้วเลี้ยวขวาที่สามแยกอีก้อ ผ่านบ้านเทอดไทย ไปจนถึงบ้านแม่คำ ห่างจากตัวเมืองเชียงราย 100 กิโลเมตร บ้านหัวแม่คำอยู่เกือบสุดชายแดน เส้นทางเป็นทางลูกรังคดโค้งไปตามทิวเขา ใช้เวลาเดินทางราว 3 ชั่วโมง


 15. ล่องแม่น้ำกก



           แม่น้ำกก เป็นแม่น้ำที่ไหลมาจากบ้านท่าตอนผ่านตัวเมืองเชียงราย มีความยาวรวมทั้งสิ้น 130 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเช่าเรือจากท่าเรือริมแม่น้ำในตัวเมือง (ท่าเรือซีอาร์) เพื่อเที่ยวชมทัศนียภาพของแม่น้ำกก สองฟากฝั่งเป็นป่าเขาที่สวยงามตามธรรมชาติ นอกจากนี้ ระหว่างทางยังสามารถแวะชมหมู่บ้านชาวเขาเผ่าต่าง ๆ เช่น อีก้อ ลีซอ หรือจะแวะบ้านกะเหรี่ยงรวมมิตรเพื่อนั่งช้างเที่ยวป่ารอบบริเวณ


           และนี่ก็คือ 15 สถานที่ท่องเที่ยวเชียงรายที่เราหยิบมาแนะนำกัน หากใครมีโอกาสไปเยือนดินแดนเหนือสุดในสยาม ชายแดนสามแผ่นดิน ถิ่นวัฒนธรรมล้านนา ล้ำค่าพระธาตุดอยตุง ก็ไม่ควรพลาดไปสัมผัสกันดูนะคะ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานเชียงราย โทรศัพท์ 0 5371 7433, 0 5370 0051-2 และ 0 5371 7434 ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.

ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีของจังหวัดเชึยงราย

แห่พระแวดเวียง




        ประเพณีอัญเชิญพระพุทธรูปแวดเวียงเชียงราย ซึ่งมีพื้นฐานความคิดมาจากตำนานพระเจ้าเลียบโลก ด้วยมีจุดมุ่งหมาย ให้ประชาชนได้มีโอกาสสักการบูชาพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ซึ่งประดิษฐานอยู่ตามวัดวาอารามต่าง ๆ ในตัวเมืองเชียงราย เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตในวาระของการส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ โดยการอัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเชียงราย มาประดิษฐานบนบุษบกที่ได้สร้างขึ้นโดยช่างศิลปินที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเชียงราย จัดตั้งเป็นขบวนอัญเชิญไปรอบเมืองเชียงราย ให้พุทธศาสนิกชนได้มีโอกาสกราบไหว้สักการบูชาด้วย ข้าวตอก ดอกไม้ เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่เป็นสิริมงคลยิ่งนัก


ปอยหลวง




        งานบุญปอยหลวงเป็นเอกลักษณ์ของชาวล้านนาซึ่งเป็นผลดีต่อสภาพทางสังคมหลายประการ นับตั้งแต่ชาวบ้านได้มาทำบุญร่วมกัน ร่วมกันจัดงานทำให้เกิดความสามัคคีในการทำงาน งานทำบุญปอยหลวงยังเป็นการรวมญาติพี่น้องที่อยู่ต่างถิ่นได้มีโอกาสทำบุญร่วมกัน และมีการสืบทอดประเพณีที่เคยปฏิบัติกันมาครั้งแต่บรรพชนไม่ให้สูญหายไปจากสังคม ช่วงเวลา จากเดือน 5 จนถึงเดือน 7 เหนือ (ตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายนหรือเดือนพฤษภาคมของทุกปี) ระยะเวลาประมาณ 3-7 วัน


ป๋าเวณี ปี๋ใหม่เมือง งานประเพณีสงกรานต์






        จัดขึ้นประมาณกลางเดือนเมษายน ในงานมีขบวนแห่และสรงน้ำพระเจ้าล้านทอง การแข่งเรือ และการละเล่นพื้นเมืองและมหรสพ จัดบริเวณตัวเมืองเชียงราย และอำเภอเชียงแสน


งานเทศกาลลิ้นจี่และของดีเมืองเชียงราย




        เทศกาลที่ชาวเกษตรกรต่างนำผลผลิตทางการเกษตรของตนมาออกร้าน โดยเฉพาะลิ้นจี่ที่มีชื่อเสียงมากของเชียงราย จัดขึ้นประมาณกลางเดือนพฤษภาคมของทุกปี ภายในงานมีการประกวดขบวนรถและธิดาลิ้นจี่ และการออกร้าน บริเวณสนามกีฬากลางจังหวัดเชียงราย


งานไหว้สาพญามังราย






        จัดให้มีพิธีบวงสรวงพญามังราย มีการออกร้าน จัดนิทรรศการของส่วนราชการและเอกชน และงานรื่นเริงอื่น ๆ จัดวันที่ 23 มกราคม-1 กุมภาพันธ์


เป็งปุ๊ด




        “เป็งปุ๊ด” หรือ “เพ็ญพุธ” เป็นประเพณีตักบาตรเที่ยงคืนค่อนรุ่งเข้าสู่วันเพ็ญขึ้น15 ค่ำที่ตรงกับวันพุธ ตามวัฒนธรรมและความเชื่อของบรรพบุรุษล้านนาไทย ที่เชื่อกันว่าพระอุปคุตซึ่งพระอรหันต์องค์หนึ่งแปลงกันยายนป็นสามเณรน้อยมาบิณฑบาตโปรดสัตว์โลกในยามเที่ยงคืน และชาวล้านนาในอดีตเชื่อว่าการทำบุญตักบาตรถวายพระอุปคุตในวันเป็งปุ๊ดก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีบุญ มีโชคลาภและร่ำรวย บังเกิดความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต โดยบรรพบุรุษชาวล้านนาเชื่อว่า ทุกคืนที่ย่างเข้าสู่วันพุธขึ้น 15 ค่ำ เป็นวันเป็งปุ๊ด และจะมีประชาชนชาวล้านนาจำนวนมากมารอเพื่อประกอบพิธีทำบุญตักบาตรพระภิกษุสามเณร


งานอนุรักษ์มรดกไทยล้านนา




        จัดในเดือนเมษายน มีการจัดนิทรรศการและการแสดงแบบไทยล้านนา มีการสาธิตงานศิลปะ บริเวณหอวัฒนธรรมนิทัศน์ อำเภอเมือง


งานประเพณีขึ้นพระธาตุดอยตุง





        จัดขึ้นในวันขึ้น 14-15 ค่ำ เดือนหกเหนือ หรือเดือนมีนาคม เป็นประเพณีของชาว ล้านนา รวมทั้งชาวไทยใหญ่ในพม่าที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา โดยชาวบ้านและพระสงฆ์ จะเดินขึ้นพระธาตุในตอนกลางคืน เมื่อมาถึงก็จะพากันนมัสการองค์พระธาตุก่อน จากนั้นจึงหาพื้นที่ประกอบอาหารเพื่อตักบาตรในตอนเช้า หลังจากตักบาตรแล้วจะ ช่วยกันบูรณะบริเวณองค์พระธาตุ เมื่อถึงยามค่ำคืนก็มารวมกันที่ปะรำพิธีเพื่อฟังเทศน

ประเพณีบวงสรวงเจ้าพ่อปลาบึก




เป็นประเพณีเกี่ยวกับความเชื่อของผู้คนที่อยู่ริมแม่น้ำโขง โดยเฉพาะชาวประมง ในเขตบ้านหาดไคร้ ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ เกี่ยวกับปลาบึกซึ่งเป็นปลาขนาด ใหญ่อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงว่า เป็นปลาศักดิ์สิทธิ์ มีเทพเจ้าคุ้มครอง ก่อนที่ชาวประมง จะจับปลาบึกต้องมีการบวงสรวงก่อน ฤดูกาลจับปลาบึกันยายน่ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม


ประเพณีโล้ชิงช้าของชาวอีก้อ





        หรือที่เรียกตนเองว่า “อาข่า” มีเชื้อสายจากจีน-ทิเบต เดินทางอพยพมาอยู่บริเวณ ชายแดนไทย-พม่า แถบตอนเหนือของลำน้ำกก โดยเฉพาะอำเภอแม่จัน และแม่สาย การโล้ชิงช้าเป็นการขึ้นไปขอพรและแสดงความรำลึกถึงพระคุณของเทพธิดาแห่ง สรวงสวรรค์ ผู้ประทานความชุ่มชื่นอุดมสมบูรณ์ให้กับพืชพันธุ์ธัญญาหารและ ยังเป็นการเซ่นไหว้บรรพบุรุษอีกด้วย จัดในช่วงเดือนสิงหาคม


พระ-เณร ขี่ม้าบิณฑบาต




        ความกันดารแห่งแผ่นดินดอย มิใช่อุปสรรคแห่งธรรม ภาพที่หาชมยากบนดอยสูงของ อ.แม่จัน สำนักปฏบัติธรรมถ้ำป่าอาชาทองซึ่งอยู่ในถิ่นทุรกันดารห่างไกลคมนาคม แม้แต่ชาวบ้านยังต้องใช้ม้าแกลบในการเดินทางและบรรทุกสัมภาระ เหตุนี้เจ้าอาวาสของสำนักสงฆ์ฯ อดีตทหารม้าเก่าจึงให้พระและเณรที่นี่ใช้ม้าเป็นพาหนะในการออกบิณฑบาตไปยังหมู่บ้านสี่หมื่นไร่ มีระยะทาง 5 วันการเดินทาง ใช้เส้นทางเชียงราย-แม่จัน เลยจาก อ.แม่จันไป 1 กม. มีทางแยกซ้ายไปดอยแม่สลอง ถนนผ่านบ้านแม่สลอง สภาพถนนเข้าหมู่บ้านยังไม่สะดวก ควรใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อ


งานเทศกาลดอกบัวตองบาน 





       จะจัดในเดือนพฤศจิกายน มีการแสดงของชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ชมทุ่งบัวตอง น้ำตก และทะเลหมอก บริเวณบ้านหัวแม่คำ อำเภอแม่ฟ้าหลวง


งานดอกเสี้ยวบานที่ภูชี้ฟ้า 


        จัดระหว่างในราวเดือนมกราคม มีการแข่งขันกีฬาและการแสดงศิลปวัฒนธรรมชาวดอย บริเวณบ้านร่มฟ้าไทย อำเภอเทิง